วันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ศัพท์เก่าที่ยังลืมไม่ได้ และศัพท์ใหม่ที่ต้องรู้




ก่อนที่เราจะไปดำเนินการ upgrade ระบบ ISO9001 ของเรา  ก็ต้องมาระลึกถึงคำศัพท์เก่าๆ แต่ยังคงมีความสำคัญอยู่ และทำความรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ กันก่อนนะคะ



ข้อกำหนด (Requirement)
ข้อกำหนดนี้ไม่ได้หมายความถึงแต่ “ข้อกำหนด ISO9001:2015ที่เราต้องมาประยุกต์ใช้กันอย่างเดียวนะคะ  แต่ยังหมายความถึง  “ข้อกำหนดของผู้มีส่วนได้เสีย” “ข้อกำหนดกฎหมาย-ข้อบังคับต่าง ๆ ที่องค์กรเกี่ยวข้องด้วย” และ“ข้อกำหนดขององค์กรเอง-ซึ่งก็คือ Procedure,WI ต่าง ๆ ที่องค์กรเขียนขึ้นมาใช้อ้างอิงในการปฏิบัติงาน” 
ในแต่ละข้อกำหนดข้างต้น  ก็จะมีความต้องการ – ความคาดหวังต่าง ๆ ระบุเอาไว้ องค์กรเองก็ต้องนำมาปฏิบัติให้สอดคล้อง  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความพึงพอใจของลูกค้านั่นเองค่ะ

องค์กร (Organization)
บุคคล  หรือกลุ่มของบุคคลซึ่งมีหน้าที่ของตนเอง โดยกำหนดความรับผิดชอบ  อำนาจหน้าที่ และความสัมพันธ์ของแต่ละกิจกรรมต่อกัน  เพื่อทำให้บรรลุต่อวัตถุประสงค์  เช่น เพื่อการค้ามุ่งหวังกำไร , เป็นมูลนิธิเพื่อการกุศล, เพื่อการศึกษาเป็นสถานศึกษา  ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ  อาจเป็น   บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด  สถาบัน  มูลนิธิ  ความร่วมมือ  สมาคมนิติบุคคล ผู้ประกอบการ  หรือส่วนหนึ่ง หรือส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ รวมกันโดยอาจเป็นความร่วมมือกันของภาครัฐ หรือภาคเอกชน 

ผู้มีส่วนได้เสีย (Interested  party)
เป็นบุคคลหรือองค์กร  ที่สามารถทำให้เกิดผลกระทบ  หรือได้รับผลกระทบ  หรือเชื่อว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจหรือกิจกรรม  ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียนี้จะมีทั้งภายในและภายนอกองค์กรค่ะ   นั่นก็คือ  ลูกค้า  เจ้าของ  บุคลากรในองค์กร  ผู้ส่งมอบ  ธนาคาร  สหภาพ  หุ้นส่วน  หรือสมาคม  ที่ซึ่งอาจรวมถึงคู่แข่ง  หรือกลุ่มบุคคลที่ซึ่งเป็นความกดดันจากฝ่ายตรงข้าม เหล่านี้เป็นต้นค่ะ

นโยบาย (Policy)
เป็นความมุ่งมั่น และทิศทางขององค์กร  ที่แถลงการณ์อย่างเป็นทางการโดยผู้บริหาร  นั่นคือ ต้องจัดทำเป็นลายอักษรจากผู้บริหารสูงสุดนั่นเองค่ะ

วัตถุประสงค์ (Objective)
เป็นผลลัพธ์ที่ต้องการบรรลุ  ซึ่งอาจเป็นกลยุทธ์ , ยุทธวิธี หรือการดำเนินการใด ๆ   ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ค่ะ
·        สามารถเกี่ยวข้องกับด้านต่าง ๆ ( เช่น การเงิน  สุขภาพและความปลอดภัย  และเป้าประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม) และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในระดับต่าง ๆ (เช่น กลยุทธ์  ทั่วทั้งองค์กร  โครงการ  ผลิตภัณฑ์  บริการ และกระบวนการ
·        อาจแสดงได้ในวิธีการอื่น ๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ  จุดประสงค์  เกณฑ์การดำเนินการ วัตถุประสงค์คุณภาพ  หรืออาจจะใช้คำอื่นที่มีความหมายเช่นเดียวกัน ( เช่น จุดมุ่งหมาย-aim , เป้าประสงค์-goal หรือเป้าหมาย-target, ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ-KPI)
สำหรับวัตถุประสงค์คุณภาพ ของ ISO 9001:2015  ที่กำหนดโดยองค์กรนี้  จะต้องสอดคล้องกับนโยบายคุณภาพ  เพื่อให้บรรลุตามผลหรือเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ค่ะ

ความเสี่ยง (Risk)
เป็นผลกระทบของความไม่แน่นอนต่อผลลัพธ์ที่คาดหวัง……จะแยกความหมายออกมาให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนะคะ
·        ผลกระทบ คือ ความเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่คาดหวังไว้  ทั้งที่ ดี – ไม่ดี
·        ความไม่แน่นอน  เป็นการระบุข้อบกพร่อง  ของความเข้าใจ, ความรู้, สถานการณ์, ผลกระทบที่จะตามมา หรือโอกาสเกิด   ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงบางส่วนก็ตามค่ะ
อธิบายเพิ่มเติมกันหน่อยนะคะ  ความเสี่ยงที่เราจะต้องประเมิน  อาจจะแยกเป็นภายนอก และภายใน ค่ะ
·        ความเสี่ยงภายนอก  ที่เราไม่สามารถจะควบคุมได้ หรือเกิดจากผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ค่าเงิน  กระแสความนิยม  ความขัดข้องทางสาธารณูปโภค  ภาวะเศรษฐกิจ  เป็นต้น
·        ความเสี่ยงภายใน  คงจะต้องประเมินกันในแต่ละกระบวน , ผลิตภัณฑ์  รวมถึง ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราส่งมอบไปแล้ว
ความเสี่ยงที่เราประเมินออกมานี้ ก็คงต้องนำมาหาทางรับมือ, ทำใจยอมรับ  หรือกำจัดไปให้ได้ค่ะ

เอกสารสารสนเทศ (Documented Information)
เป็นสารสนเทศที่ได้รับการควบคุม และรักษาไว้โดยองค์กร รวมทั้งสื่อที่ใช้เก็บสารสนเทศดังกล่าว
พูดกันง่าย ๆ ก็คือ  ไม่ว่าจะเป็น Procedure , Work Instruction, แบบฟอร์ม , เอกสารอ้างอิง , บันทึก , เอกสารภายนอก, หลักฐานจากการทำงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสื่ออิเลคทรอนิกส์ หรือสื่อในรูปแบบใด ๆ  รวมเรียกว่า  เอกสารสารสนเทศ ทั้งนั้นค่ะ

กระบวนการ (Process)
เป็นกลุ่มของกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน  เพื่อเปลี่ยนปัจจัยนำเข้า  ไปสู่  ผลลัพธ์ที่ต้องการ 
กระบวนการจะแบ่งง่าย ๆ ออกเป็น 
·        กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า เป็นกระบวนการหลัก  เช่น กระบวนการขาย, กระบวนการผลิต เป็นต้น
·        กระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ  เช่น  กระบวนการทบทวนโดยผู้บริหาร , กระบวนการตรวจติดตามภายใน  เป็นต้น
·        กระบวนการสนับสนุน  เช่น   กระบวนการอบรม , กระบวนการสรรหาบุคลากร  เป็นต้น

สมรรถนะ ( Performance)
ผลลัพธ์ที่สามารถวัดได้ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ    จะแบ่งได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ค่ะ
กลุ่มแรก   เป็นสมรรถนะของระบบ  เช่น   ผลการบรรลุเป้าหมาย , ผล KPI 
กลุ่มที่สอง   เป็นสมรรถนะของกระบวนการผลิตและบริการ  เช่น  ค่า Cp , Cpk , Pp , Ppk   

การให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทน  (Outsource)
การทำข้อตกลงกับองค์กรภายนอก  เพื่อให้ดำเนินการในบางส่วนของกิจกรรม หรือกระบวนการขององค์กร 
การที่องค์กรไปจ้างให้องค์กรภายนอกทำกิจกรรมบางอย่างนี้แล้ว   หากเกิดเหตุการณ์ที่องค์กรภายนอกเป็นต้นเหตุทำให้เกิดข้อบกพร่องใด ๆ ขึ้นแล้วมีผลกระทบกับผู้มีส่วนได้เสีย   นั่นก็ยังเป็นความรับผิดชอบขององค์กรอยู่นะคะ องค์กรจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ค่ะ

การเฝ้าระวัง  (Monitoring)
เป็นการค้นหาสถานภาพของระบบ , กระบวนการ หรือกิจกรรม  ซึ่งจะทำโดยการตรวจสอบ, การเฝ้าดู หรือสังเกตอย่างจริงจัง  เช่น  การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นระยะๆ , การตรวจติดตามภายในปีละ 2 ครั้ง  เป็นต้นค่ะ  นอกจากนี้  ยังมีการติดตามโดยทั่วไป  เพื่อประกอบการตัดสินใจกับสิ่งที่เฝ้าระวัง  ซึ่งอาจจะต่างขั้นตอน หรือต่างเวลา  เช่น การติดตามผลของ KPI เป็นต้นค่ะ

การวัด (Measurement)
แปลว่า  กระบวนการเพื่อค้นหาค่า   ตรงตัวเลยค่ะ   เช่น  การวัดกระบวนการ (เช่น  KPI ) , การวัดลูกค้า ( เช่น ความพึงพอใจของลูกค้า) , การวัดระบบ ( เช่น Internal audit)

การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continual  Improvement)
เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มสมรรถนะ  เป็นกระบวนการเดิม ๆ ที่เราดำเนินการอยู่แล้วค่ะ  แต่เพิ่มเติมความสามารถที่มากขึ้นเข้าไปค่ะ  เช่น  การปรับปรุงเป้าหมาย หรือ KPI , การเพิ่มค่าสมรรถนะของผลิตภัณฑ์ (เช่น Cp,Cpk,Pp,Ppk)

มาถึงตรงนี้  เราได้รู้จักศัพท์ใหม่ ๆ และฟื้นความทรงจำเก่า ๆ กลับมาบ้างแล้วนะคะ   คราวหน้าเตรียมตัวเจอะเจอกับข้อกำหนดตัวเป็น ๆ กันค่ะ

ขอบคุณค่ะ ^-^
สุกัญญา มีบุศยวัสส์ (อ้อ)
Consultant and Trainer
BSM Solutions Limited Partnership
086-145-3665

bsm.soln@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ISO9001:2015 โครงสร้างข้อกำหนดหลักเป็นอย่างไร?

สำหรับบทความตอนนี้  เรามาดูภาพรวมความต้องการในแต่ละข้อกำหนดใหญ่ ๆ ที่เราต้องนำมาประยุกต์ใช้กันนะคะ

ข้อ 4 บริบทขององค์กร (Context of the organization)
องค์กรต้องวิเคราะห์ความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายนอกและภายใน ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งที่องค์กรจะทำ เพื่อจะนำมากำหนดขอบข่าย (scope) , ชี้บ่งกระบวนการที่จำเป็น  และแสดงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันของแต่ละกระบวนการ  เพื่อที่จะทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจอย่างสูงสุด

ข้อ 5 ความเป็นผู้นำ (Leadership)
ผู้บริหารระดับสูงต้องกำหนดนโยบายคุณภาพให้สอดคล้องกับทิศทางเชิงกลยุทธ์ขององค์กรแล้วสื่อสารภายใน  และควรสนับสนุนความมีส่วนร่วมของผู้นำในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบ ในการขับเคลื่อนระบบให้เป็นไปตามความคาดหวังขององค์กร

ข้อ 6 การวางแผน (Planning)
องค์กรต้องระบุความเสี่ยงและโอกาส  > ในระดับองค์กร,ในแต่ละกระบวนการ,ที่ส่งผลกระทบกับลูกค้า แล้วนำมาวางแผนบริหารความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้น, กระจายความเสี่ยง หรือนำมาเป็นโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาต่อไป  ทั้งนี้ยังรวมถึงการวางแผนรับมือสำหรับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย

ข้อ 7 การสนับสนุน (Support)
องค์กรต้องจัดเตรียมทรัพยากร (4M-Man,Machine,Material,Method) และเอกสารสารสนเทศให้เพียงพอ เพื่อให้การดำเนินการในทุกกระบวนการเป็นไปอย่างราบรื่น  และได้ผลลัพธ์อย่างที่องค์กรตั้งใจไว้

ข้อ 8 การดำเนินการ (Operation)
 องค์กรต้องวางแผนการทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์/บริการ  ต้องกำหนดเกณฑ์ควบคุมการปฏิบัติ,การเก็บเอกสารสารสนเทศที่จำเป็น ,การควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น,ควบคุม outsource รวมทั้งควบคุมสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดด้วย

ข้อ 9 การประเมินสมรรถนะ (Performance evaluation)
องค์กรต้องประเมินสมรรถนะ > คุณภาพผลิตภัณฑ์, ระบบ (KPI), ความพึงพอใจของลูกค้า, สมรรถนะของ outsource, Internal audit   จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำเข้า Management review

ข้อ 10 การปรับปรุง (Improvement)
เป็นการแก้ไขสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดที่เกิดขึ้น  และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ถ้าจะแบ่งเป็นวงจร PDCA ก็ตามนี้เลยค่ะ  Plan (ข้อ4,5,6,7)    DO (ข้อ 8)    Check (ข้อ 9)    Action (ข้อ 10)
ในตอนต่อ ๆ ไปจะมาเล่าให้ฟังนะคะ ว่าแต่ละข้อกำหนดต้องดำเนินการอย่างไรกันบ้างค่ะ

ขอบคุณค่ะ ^-^
สุกัญญา มีบุศยวัสส์ (อ้อ)
Consultant and Trainer
BSM Solutions Limited Partnership
086-145-3665

ISO9001:2015 เปลี่ยนอะไรกันบ้างละเนี่ย ?

ประกาศกันอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาแล้วนะคะ  ในฐานะที่เป็นทั้ง Consult , Trainer และ Auditor  ขอเล่าสู่กันฟังในมุมของคนที่วนเวียนอยู่ในระบบ แล้วอยาก design ระบบให้มันง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากมากนัก...แต่ก็คงต้องยอมรับค่ะว่าการเปลี่ยนเวอร์ชั่นครั้งนี้เป็น Big Change จริง ๆ

Big Change ที่ว่า  ขอแบ่งเป็น 3  Big แล้วกันนะคะ
Big  แรก    :   โครงสร้างของข้อกำหนด ที่มีการจัดเรียงใหม่ และใส่อะไรใหม่ๆ ลงไปให้องค์กรได้ปวดเศียรเวียนเกล้ากัน    จาก ข้อ 4 – 8  เป็น  ข้อ 4 – 10 

Big ที่สอง  :   แนวความคิดบนพื้นฐานความเสี่ยง จะใช้เป็นเครื่องมือป้องกัน  “ผลของความไม่แน่นอนจากผลลัพธ์ที่หวังไว้”  ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางบวกหรือลบ ก็ถือว่าเป็นโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาองค์กร

Big สุดท้าย มองกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ในองค์กรเป็น “กระบวนการ” ที่สัมพันธ์กันทั้งหมด  เพื่อนำมาระบุ “สิ่งที่จำเป็น” และ “สิ่งที่คาดหวัง” 

สำหรับองค์กรต่าง ๆ คงต้องเริ่มเตรียมแผนตั้งรับ ISO9001 เวอร์ชั่นใหม่ร้ายบริสุทธิ์กันแล้วค่ะ  ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านต้องทำให้สำเร็จก่อน กันยายน 2018 นะคะ ไม่งั้น certificate ในมือจะหมดอายุโดยอัตโนมัติค่ะ

องค์กรจะต้องปรับองค์กร  เดินหน้าอย่างไรกันบ้างจะมาเล่าให้ฟังในตอนต่อ ๆ ไปนะคะ

ขอบคุณค่ะ ^-^
สุกัญญา มีบุศยวัสส์ (อ้อ)
Consultant and Trainer
BSM Solutions Limited Partnership
086-145-3665